วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

นโยบายลูกโทนของจีน

ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยมีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรโลก นอกจากนี้จีนยังเป็นชาติมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก จึงเป็นที่น่าจับตามองสถานการณ์ทางประชากรซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของจีนในอนาคต


ในช่วงต้นของยุค 70 (ประมาณ พ.ศ. 2513) รัฐบาลจีนเริ่มตระหนักว่าการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรเป็นภัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี เติ้ง เสี่ยวผิง ได้พิจารณาเห็นว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นที่ไม่สมดุลกับพื้นที่ของประเทศ  ซึ่งถึงแม้จะกว้างใหญ่แต่เนื้อที่ส่วนใหญ่ของประเทศไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยและการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดปัญหาความยากจนของประชากรในประเทศ รัฐบาลจีนจึงต้องหาวิธีควบคุมการเพิ่มของประชากร จึงก่อให้เกิดนโยบายการมีลูกโทนหรือการมีลูกเพียงคนเดียว (one-child policy) รัฐบาลจีนเรียกมาตราการนี้ว่า “นโยบายการวางแผนครอบครัว” (family planning policy)
โดยรัฐบาลจีนริเริ่มแนวคิดนี้ขึ้นในปี 2521 และบังคับใช้จริงในปี 2523

มาตราการดังกล่าวนี้กำหนดให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้เพียง 1 คน หากครอบครัวใดฝ่าฝืน ไม่ปฎิบัติตามนโยบายดังกล่าวจะได้รับบทลงโทษทางกฎหมาย โดยการลงโทษนั้นอาจอยู่ในรูปของการปรับเป็นเงินค่าบำรุงสังคม (social maintenance fee) ซึ่งจำนวนเงินค่าปรับจะถูกกำหนดโดยคำนวณจากฐานรายได้ของครอบครัวนั้นๆ  และอาจไม่ได้รับโบนัสจากที่ทำงาน รวมทั้งยังถูกตัดสิทธิ์ในสวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็ก เช่น สวัสดิการด้านการศึกษาและด้านสุขภาพ หากครอบครัวใดมีลูก 2 คนขึ้นไปจะไม่สามารถรับสวัสดิการดังกล่าวได้ ซึ่งพ่อแม่ต้องเป็นคนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วยตนเอง ขณะที่ครอบครัวใดที่มีลูกเพียง 1 คน รัฐบาลจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้

อย่างไรก็ดีนโยบายดังกล่าวไม่ได้บังคับใช้ทั่วทั้งประเทศ  นโยบายนี้ไม่ได้ถูกกำหนดใช้ในเขตปกครองพิเศษของจีนได้แก่ ฮ่องกง มาเก๊า และทิเบต และยังพบว่ามีการยกเว้นผ่อนปรนให้แก่ครอบครัวที่อาศัยในชนบท ซึ่งเป็นครอบครัวเกษตรกรที่ต้องพึ่งพาแรงงานในครัวเรือน รวมถึงครอบครัวของชนกลุ่มน้อย หรือครอบครัวที่สามีและภรรยาต่างเป็นลูกโทนด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งกลุ่มที่กล่าวมานี้จะได้รับอนุญาตให้มีลูกได้ 2 คน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการทำงานของคู่สามีภรรยา หรือเพื่อช่วยดูแลปู่ย่าตายายที่เป็นผู้สูงอายุ ในทางปฎิบัติจริง ครอบครัวที่ไม่ได้รับการยกเว้นจำนวนมากยอมที่จะจ่ายค่าปรับและรับภาระต่างๆ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการมีลูกคนที่สอง ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์รวมของประเทศจีนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการมีลูก 2 คนต่อครอบครัว (TFR = 1.8)

จากการดำเนินนโยบายควบคุมการเกิดในระยะเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ประเทศจีนสามารถยับยั้งการเกิดของประชากรได้ถึง 400 ล้านคน จากการวิเคราะห์ของทางการจีนพบว่าหากไม่ใช้นโยบายการวางแผนครอบครัวนี้ จำนวนประชากรจีนน่าจะเกิน 1,500 ล้านคนไปแล้ว นโยบายดังกล่าวยังส่งผลดีต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้หญิงพวกเธอมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น รวมถึงยังเป็นแรงงานสำคัญให้กับประเทศ จากการดำเนินนโยบายนี้จีนสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของประชากรได้ในระดับที่น่าพอใจ และยังพบว่าประชากรส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดีนโยบายดังกล่าวได้เปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับครอบครัวของคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันหนุ่มสาวจีนมองหาความทันสมัยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ให้คุณค่ากับการเป็นครอบครัวเดี่ยวมากกว่าครอบครัวขยาย เป็นที่น่าสนใจว่า นโยบายวางแผนครอบครัวของจีนนี้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและ ทำให้คุณภาพชีวิตของประชากรในภาพรวมดีขึ้น  แต่หากนโยบายนี้ยังคงดำเนินต่อไป ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาบางประการตามมาได้ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาความไม่สมดุลทางเพศของประชากร เนื่องจากประเทศจีนมีค่านิยมการมีบุตรชายเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล จึงทำให้หลายครอบครัวเลือกที่จะให้กำเนิดบุตรชาย โดยผู้เป็นแม่ยอมทำแท้งหากเป็นลูกหญิง ค่านิยมนี้ส่งผลให้มีประชากรเพศชายมากกว่าเพศหญิง เมื่อถึงวัยแต่งงานอาจเกิดปัญหาการไม่สามารถหาคู่สมรสภายในประเทศได้ บางคนจึงเลือกแต่งงานกับภรรยาต่างชาติ นอกเหนือจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อันจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาประเทศที่ปัจจุบันเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลทางประชากรของจีนในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่านโยบายนี้ทำให้จีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลจีนจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับจำนวนผู้สูอายุที่มีมากขึ้นในอนาคต

ประเด็นที่ท้าทายต่อจากนี้คือเมื่อประชากรวัยหนุ่มสาวมีทัศนคติเชิงลบต่อการมีบุตร  เห็นว่าการเป็นโสด การแต่งงานโดยไม่มีบุตรนั้นทำให้ชีวิตมีความสุขมากกว่าแต่งงานมีบุตร หากรัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมการมีบุตร จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เมื่อจีนเคยใช้กฎหมายการวางแผนครอบครัวได้เป็นผลสำเร็จมาแล้ว จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีกฎหมายบังคับให้ประชากรมีบุตร  และจะมีคนรุ่นใหม่กี่คนที่ยอมทำตามนโยบายนี้ หรือจะยอมรับบทลงโทษตามกฎหมาย เช่น ยอมงดรับสวัสดิการจากภาครัฐ หรือยอมเสียค่าปรับจากการไม่มีบุตร เพื่อที่จะได้รับสิทธิ์ในการครองโสด หรือแต่งงานโดยไม่มีบุตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น