วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไทย


ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาทกันทุกคน ไม่ว่าท่านเหล่านั้นจะยากดีมีจนหรือจะร่ำรวยเพียงใด หากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์(ยกเว้นข้าราชการและผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์) สิทธิ์ตามกฎหมายของท่านเหล่านี้คือ สามารถรับเบี้ยยังชีพที่รัฐบาลอุดหนุนให้ได้ทั้งสิ้น การรับเงินก็แสนจะสบายคือสามารถให้โอนเข้าบัญชีได้เลย  หรือจะเดินทางไปรับด้วยตนเองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่่ก็ได้

ประเด็นการให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุทุกคน หากมองในมุมมองแบบจับผิดรัฐบาล (ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ประชาชนควรทำ คือการตรวจสอบหรือตั้งคำถามในการทำงานของภาครัฐอยู่เสมอ) การดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจถือว่าเป็นนโยบายประชานิยม คือหวังผลต่อการเพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า (รัฐบาลชุดนี้จึงอยากใช้คำว่ารัฐสวัสดิการ?) ในบางมุมมองอาจเห็นว่าการให้เงินกับผู้สูงอายุทุกคนถือเป็นการกระจายรายได้ให้ก้บผู้สูงอายุอย่างเท่าเทียมกัน เพราะโดยรวมแล้วเมื่อร่างกายเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ความสามารถในการหารายได้ก็ย่อมลดลง โดยส่วนตัวดิฉันเคยแอบสังเกตคุณพ่อ ซึ่งท่านได้ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุเมื่อปีที่แล้ว เห็นว่าท่านเก็บออมเงินก้อนนี้ไว้เพื่อซื้อทองให้คุณแม่ ก็คิดเล่นๆ ว่าคงต้องเก็บสะสมไปประมาณ 3 ปี ถึงจะซื้อทองได้ 1 บาท (500 บาท x 12 เดือน x 3 ปี = 18,000 บาท) แต่ก็ดูท่านมีความสุขกับการได้รับเงินเบี้ยยังชีพคนชราแม้จะไม่ใช่เงินก้อนโต

วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความเข้าใจภาวะประชากรไทย

เมื่อเช้าดูรายการเล่าข่าวแนวบันเทิง พิธีกรได้นำเสนอข่าวประเทศสิงคโปร์ที่มีปัญหาเรื่องประชากรมีลูกน้อยลง เนื่องจากคนหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์เป็นโสดมากขึ้น ส่วนคนที่แต่งงานแล้วก็ไม่นิยมมีลูก รัฐบาลจึงต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการหาคู่ให้กับคนหนุ่มสาว ด้วยการส่งเสริมให้คู่หนุ่มสาวออกเดท ก็เป็นเรื่องที่แปลกดีสำหรับการดำเนินนโยบายเชิงรุกที่รัฐบาลจัดขึ้น มาตกใจที่พิธีกรกล่าวว่า "สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนานั้น ไม่ได้มีปัญหาเรื่องคนไม่ค่อยมีลูกเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้ว แต่สำคัญที่ว่าต้องวางแผนการคุมกำเนิดกันให้ดีมากกว่า" ข้อมูลนี้ขัดแย้งกับสถานการณ์จริงในประเทศไทยเรา


วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ทักทายกันก่อน


สวัสดีค่ะ บล็อกนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยเรา ซึ่งข้อมูลที่จะได้นำเสนอต่อจากนี้ไปผู้อ่านจะได้รับทราบสถานการณ์ของผู้สูงอายุ รวมถึงข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อการเป็นสังคมผู้สูงอายุ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความเข้าใจในสภาพสังคมของไทยที่เปลี่ยนไปนี้จะทำให้ผู้อ่านปรับตัวเพื่ออยู่รอดต่อไปในสังคมได้