วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไทย


ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาทกันทุกคน ไม่ว่าท่านเหล่านั้นจะยากดีมีจนหรือจะร่ำรวยเพียงใด หากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์(ยกเว้นข้าราชการและผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์) สิทธิ์ตามกฎหมายของท่านเหล่านี้คือ สามารถรับเบี้ยยังชีพที่รัฐบาลอุดหนุนให้ได้ทั้งสิ้น การรับเงินก็แสนจะสบายคือสามารถให้โอนเข้าบัญชีได้เลย  หรือจะเดินทางไปรับด้วยตนเองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่่ก็ได้

ประเด็นการให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุทุกคน หากมองในมุมมองแบบจับผิดรัฐบาล (ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ประชาชนควรทำ คือการตรวจสอบหรือตั้งคำถามในการทำงานของภาครัฐอยู่เสมอ) การดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจถือว่าเป็นนโยบายประชานิยม คือหวังผลต่อการเพิ่มคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า (รัฐบาลชุดนี้จึงอยากใช้คำว่ารัฐสวัสดิการ?) ในบางมุมมองอาจเห็นว่าการให้เงินกับผู้สูงอายุทุกคนถือเป็นการกระจายรายได้ให้ก้บผู้สูงอายุอย่างเท่าเทียมกัน เพราะโดยรวมแล้วเมื่อร่างกายเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา ความสามารถในการหารายได้ก็ย่อมลดลง โดยส่วนตัวดิฉันเคยแอบสังเกตคุณพ่อ ซึ่งท่านได้ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุเมื่อปีที่แล้ว เห็นว่าท่านเก็บออมเงินก้อนนี้ไว้เพื่อซื้อทองให้คุณแม่ ก็คิดเล่นๆ ว่าคงต้องเก็บสะสมไปประมาณ 3 ปี ถึงจะซื้อทองได้ 1 บาท (500 บาท x 12 เดือน x 3 ปี = 18,000 บาท) แต่ก็ดูท่านมีความสุขกับการได้รับเงินเบี้ยยังชีพคนชราแม้จะไม่ใช่เงินก้อนโต

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ ดิฉันได้มีโอกาสร่วมทำงานวิจัยกับ รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา (อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ) เรื่อง “การศึกษาเชิงลึกด้านการใช้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของผู้สูงอายุในเขตเมือง” : กรณีศึกษากรุงเทพมหานครและเทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งมีประเด็นที่ถามถึงรายได้ที่ได้รับจากแหล่งต่างๆ พบว่าเบี้ยยังชีพก็เป็นรายได้อีกแหล่งหนึ่งที่ผู้สูงอายุแทบทุกคนตอบว่าได้รับ อย่างไรก็ดีมีอยู่จำนวนไม่มากนักที่เสนอว่าให้รัฐบาลปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพ สำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มิได้เสนอให้ปรับเพิ่มจำนวนเงินนั้น เมื่อถามย้อนกลับไปว่าพอใช้หรือกับเงินเดือนละ 500 บาท ท่านผู้สูงอายุทั้งหลายมักตอบในทำนองว่า "เฉพาะเงินเบี้ยชราก็ไม่ได้พอใช้หรอก แต่เขาให้มาก็ดีแล้ว" จากการศึกษาสะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุในเขตพื้นที่การวิจัย ส่วนใหญ่พอใจกับการได้เงินเบี้ยยังชีพ

อาจมองได้ว่า การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นการตอบแทนท่านผู้สูงอายุที่เคยสร้างสรรค์สังคมไทยมาก่อน เพื่อเป็นส่วนเติมเต็มความสุขแม้เพียงเล็กน้อยให้กับท่าน มาลุ้นกันว่าหากเราเข้าสู่วัย 60 ปีบริบูรณ์แล้ว เราจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อเดือนในจำนวนเงินเท่าใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น