วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความสุขของผู้สูงอายุอยู่ที่ไหน


เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ดิฉันมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมวิชาการเรื่อง “พัฒนางานผู้สูงอายุไทยอย่างก้าวหน้าและยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานนี้ถือเป็นงานใหญ่ระดับชาติ เพราะท่านนายกอภิสิทธิ์ เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานด้วยตนเอง มีประเด็นที่น่าสนใจที่จะนำมาเล่าให้ฟัง คือเรื่อง “ความสุขของผู้สูงอายุอยู่ที่ไหน” ซึ่งดิฉันได้สรุปแนวคิดจากการบรรยายของคุณหมอบรรลุ ศิริพานิช (คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ) โดยคุณหมอให้ความเห็นว่า การที่ผู้สูงอายุจะมีความสุขนั้นมีปัจจัยหลักๆ อยู่ 3 ประการ ได้แก่

1) การมีสุขภาพดี ผู้สูงอายุที่จะมีความสุขได้ประการแรกต้องมีสุขภาพดี ซึ่งทำได้โดยการสร้างเสริมสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ จากการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม อย่างต่อเนื่อง การรับประทานอาหารที่ดี รวมไปถึงการพักผ่อนที่เพียงพอ เพื่อป้องกันโรคภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับสังขารที่นับวันจะเสื่อมถอย และผู้สูงอายุต้องสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะสุขได้โดยสะดวกเพื่อรักษาโรคภัยต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที

2) การมีงานทำ คำว่างานในที่นี้หมายถึง งานที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องได้เงินเท่านั้น อาจเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น งานจักสาน งานสวน งานบ้าน ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า (ลูกหลานที่อยากให้ปู่ ย่า ตา ยาย อยู่เฉยๆ นั่งกิน นอนกินเท่านั้น ไม่ต้องทำอะไร อาจจะต้องทบทวนเสียแล้วสิ) และหากชุมชนจะเชิญผู้สูงอายุร่วมทำกิจกรรมหรือให้ความรู้กับชุมชนหรือสังคม จะเป็นสิ่งที่ดีมากทั้งต่อผู้สูงอายุเองและชุมชน

3) มีความมั่นคงในเศรษฐกิจและสังคม ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจนี้จำเป็นที่ผู้สูงอายุต้องวางแผนเรื่องการเงินมาแล้วตั้งแต่ในอดีต จนทำให้ ณ ปัจจุบัน ตนเองมีความมั่นคง ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจเรื่องทรัพย์สมบัติแล้ว อย่างไรก็ดีสำหรับผู้สูงอายุบางคน เงินที่ได้รับจากลูกหลานก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ท่านมีความรู้สึกมั่นคงด้านการเงิน และสำหรับความมั่นคงทางด้านสังคมนั้น ให้ความสำคัญกับการที่ผู้สูงอายุมีครอบครัวที่สมบูรณ์ เช่น มีคู่สมรสอยู่ด้วยกัน มีลูกมีหลานให้ได้ชื่นชมและร่วมยินดีด้วยเมื่อลูกหลานประสบความสำเร็จ

จากที่กล่าวมา น่าจะสะท้อนได้ว่าผู้สูงอายุจะมีความสุขได้นั้น จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาจาก 3 ปัจจัยข้างต้น ตัวผู้อ่านเองล่ะคะ ได้ลองสำรวจดูว่าผู้สูงอายุใกล้ตัวท่านมีปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวเหล่านี้แล้วหรือยัง หากยัง เราพอจะช่วยเต็มเติมให้ท่านได้หรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น